ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการโรคพยาธิตัวตืด (Taeniasis)  (อ่าน 14 ครั้ง)

siritidaphon

  • Jr. Member
  • **
  • กระทู้: 91
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการโรคพยาธิตัวตืด (Taeniasis)
« เมื่อ: วันที่ 18 พฤศจิกายน 2024, 14:44:40 น. »
ตรวจอาการโรคพยาธิตัวตืด (Taeniasis)

โรคพยาธิตัวตืดเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิตัวตืด*ในเนื้อหมูและเนื้อวัว

ในบ้านเราพบโรคพยาธิตัวตืดในภาคอีสานมากกว่าภาคอื่น ๆ เนื่องเพราะคนในภาคนี้ยังนิยมกินเนื้อดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมู ลาบเนื้อ ยำเนื้อ พล่าเนื้อ หมูแหนม เป็นต้น และพบเป็นโรคพยาธิตืดวัว มากกว่าตืดหมู

*วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืด หรือพยาธิตัวแบน (tape worm) ที่พบบ่อยได้แก่ พยาธิตืดวัว (Taenia saginata) กับพยาธิตืดหมู (Taenia solium) พยาธิตัวเต็มวัย (ตัวแก่) ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 เมตร ประกอบด้วยปล้องจำนวนมากมาย อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ปล้องของพยาธิจะหลุดออกมากับอุจจาระหรือออกมาเอง แล้วแตกซึ่งจะปล่อยไข่ (ปล้องหนึ่ง ๆ มีไข่เป็นพันเป็นหมื่นฟอง) กระจายอยู่บนพื้นดินหรือพื้นหญ้า เมื่อวัว (หรือหมู) กินไข่ตัวตืดวัว (หรือตืดหมู) ที่ออกจากอุจจาระคนเข้าไป ตัวอ่อนจะฟักในลำไส้และไชเข้ากระแสเลือด ไปอยู่ตามกล้ามเนื้อทั่วร่างกายโดยมีถุงหรือซิสต์ (cyst) หุ้ม เป็นถุงเล็ก ๆ ขาว ๆ คล้ายเม็ดสาคู ซึ่งเรียกว่า เนื้อสาคู (หรือหมูสาคู) ถ้าคนกินเนื้อ (หรือหมู) สาคูเข้าไป ตัวอ่อนก็จะไปเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

แต่ถ้าคนกินไข่ของตืดหมู (ที่ออกจากอุจจาระผู้ป่วย) ซึ่งปนเปื้อนตามมือ ผัก หรืออาหาร หรือตัวผู้ป่วยเองเกิดอาเจียนขย้อนเอาไข่ที่อยู่ในปล้องแก่ของพยาธิขึ้นมาอยู่ในกระเพาะอาหาร ตัวอ่อนก็จะฟักตัวออกจากไข่ แล้วไชเข้ากระแสเลือดกลายเป็นซิสต์กระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย เรียกว่า โรคซิสต์พยาธิตืดหมู (cysticercosis) อาจอยู่ในกล้ามเนื้อและสมอง (แต่ถ้าคนกินไข่ของตืดวัว ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะตายไป ไม่เกิดอันตรายเหมือนกินตืดหมู)

วงจรชีวิตของพยาธิตัวตืด


สาเหตุ

การติดต่อของโรคนี้ เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือเนื้อวัวที่มีซิสต์ (เนื้อสาคูหรือหมูสาคู) แบบดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หรือกลืนไข่ตัวตืดหมูที่ปนเปื้อนผัก อาหาร หรือมือ


อาการ

ถ้าเป็นโรคพยาธิตัวตืดในลำไส้ โดยทั่วไปจะไม่มีอาการรุนแรง เพียงแต่เวลาถ่ายอุจจาระมีปล้องพยาธิคล้ายเส้นบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวหลุดออกมาเป็นท่อน ๆ เป็นครั้งคราว บางรายอาจมีอาการหิวบ่อย กินจุแต่ผอม อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระบ่อย การตรวจอุจจาระด้วยกล้องจุลทรรศน์จะพบไข่ของพยาธิตัวตืด

บางรายอาจมีอาการแพ้ เป็นลมพิษได้

แต่ถ้ากินไข่ของตืดหมูเข้าไป จะเกิดมีตุ่มซิสต์ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวกระจายอยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย ถ้าไปอยู่ในตา เรียกว่า โรคซิสต์พยาธิตืดหมูในตา (ocular cysticercosis) อาจทำให้เยื่อตาขาวอักเสบ ม่านตาอักเสบ ประสาทตาอักเสบ อาจทำให้ตาบอดได้ ถ้าไปอยู่ในสมอง เรียกว่า โรคซิสต์พยาธิตืดหมูในสมอง (cerebral cysticercosis) อาจทำให้มีอาการชักแบบลมบ้าหมู แขนขาเป็นอัมพาต มีอาการทางจิตประสาท หรือปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนได้


ภาวะแทรกซ้อน

อาจทำให้เกิดการอุดกั้นไส้ติ่ง (ทำให้ไส้ติ่งอักเสบ) หรืออุดกั้นทางเดินน้ำดี (ทำให้ดีซ่าน)

ถ้ากลายเป็นโรคซิสต์พยาธิตืดหมูในตาหรือในสมอง อาจทำให้ตาบอด หรือมีความผิดปกติของสมอง เช่น โรคลมชัก อัมพาต โรคจิตประสาท เป็นต้น


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจอุจจาระ ตรวจเลือด เอกซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

1. ถ้าพบปล้องของพยาธิตัวตืดหลุดปนมากับอุจจาระ หรือตรวจพบไข่พยาธิตัวตืดในอุจจาระ ให้กินยาฆ่าพยาธิ เช่น มีเบนดาโซล, นิโคลซาไมด์, อัลเบนดาโซล, พราซิควานเทล เป็นต้น

ถ้าสงสัยเป็นโรคพยาธิตืดหมู หลังกินยาฆ่าพยาธิ 2 ชั่วโมง ควรให้กินยาถ่ายดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 2-3 ช้อนโต๊ะตามไปด้วย เพื่อเร่งการขับพยาธิออกทางลำไส้ ป้องกันการขย้อนเอาไข่ในปล้องแก่ของพยาธิขึ้นมาที่กระเพาะอาหาร

2. ถ้าพบตุ่มขนาดเมล็ดถั่วเขียวอยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย หรือมีอาการทางสมอง เช่น อัมพาต ชัก ปวดศีรษะมาก หรือมีอาการทางจิต หรือมีอาการทางตา (เช่น ตาแดง ตามัว) แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ทำการทดสอบทางน้ำเหลือง ตัดชิ้นเนื้อที่มีตุ่มตรงใต้ผิวหนังไปตรวจหาตัวพยาธิ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ

ถ้าซิสต์พยาธิมีลักษณะเป็นหินปูน และผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ ก็ไม่ต้องให้การรักษาแต่อย่างใด แต่ถ้ามีอาการทางสมอง และตรวจพบว่าในเนื้อสมองมีซิสต์พยาธิที่ยังมีชีวิตอยู่ จะให้ยาฆ่าพยาธิพราซิควานเทล หรืออัลเบนดาโซล ซึ่งจำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากการใช้ยาจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายรุนแรง และจำเป็นต้องให้ยาสเตียรอยด์ขนาดสูงร่วมด้วย (ถ้าพบซิสต์พยาธิในตาหรือไขสันหลัง จะไม่ให้ยารักษาเพราะอาจเกิดผลเสียหายมากขึ้น)

นอกจากนี้ยังให้การรักษาตามอาการ เช่น ถ้ามีอาการชัก ก็ให้ยากันชัก

ถ้ามีการอุดกั้นของทางไหลเวียนของน้ำในสมองและไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (hydrocephalus) อาจต้องผ่าตัดสมองเพื่อถ่ายเทเอาน้ำในสมองและไขสันหลังออกมานอกสมอง

ส่วนการผ่าตัดเพื่อนำซิสต์ของพยาธิออกจากสมองนั้นเป็นเรื่องยาก และอาจทำลายถูกเนื้อสมองใกล้เคียง จึงไม่นิยมทำกัน

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น ถ่ายอุจจาระมีปล้องพยาธิคล้ายเส้นบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวหลุดออกมาเป็นท่อน ๆ, มีอาการหิวบ่อย กินจุแต่ผอม หรือน้ำหนักลด, มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระบ่อย, หรือมีตุ่มซิสต์ขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวกระจายอยู่ใต้ผิวหนังทั่วร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคพยาธิตัวตืด ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 1-2 สัปดาห์
    มีอาการปวดศีรษะมาก ชัก หรือแขนขาอ่อนแรง
    มีอาการปวดตา ตามัว ตาแดง
    มีอาการปวดท้องมาก หรือตาเหลืองตัวเหลือง
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ

การป้องกัน

1. เนื้อหมู เนื้อวัวที่ใช้กินเป็นอาหารควรได้รับการตรวจจากสัตวแพทย์ว่าไม่เป็นเนื้อหมู เนื้อวัวสาคู

2. กินเนื้อหมู เนื้อวัว หรือเนื้อควายที่ทำให้สุกแล้ว อย่ากินดิบ ๆ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ยำ พล่า แหนม เป็นต้น

3. ผักสด ผลไม้ควรล้างให้สะอาดก่อนกิน

4. ควรถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่มิดชิด

5. ล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง