ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เป็นลม (Syncope/Fainting)  (อ่าน 47 ครั้ง)

siritidaphon

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 138
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เป็นลม (Syncope/Fainting)
« เมื่อ: วันที่ 22 ธันวาคม 2024, 22:02:53 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: เป็นลม (Syncope/Fainting)

คำว่า เป็นลม ในที่นี้หมายถึง อาการที่อยู่ ๆ ก็หมดสติทรุดลงกับพื้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเป็นอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียวก็กลับฟื้นคืนสติได้เองภายในเวลาอันสั้น ทั้งนี้ เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองน้อยลง ทำให้เซลล์สมองขาดออกซิเจนชั่วขณะ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิตจากสาเหตุต่าง ๆ

ชาวบ้านนิยมเรียกอาการเป็นลมนี้ว่า "โรควูบ"

เป็นลมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย และจะพบบ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ถ้าพบในคนอายุต่ำกว่า 30 ปีมักเป็นลมธรรมดา ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นต้นเหตุ และส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงครั้งเดียว จะไม่มีอาการเป็นลมกำเริบซ้ำอีก แต่ถ้าพบในวัยกลางคนและผู้สูงอายุก็อาจมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ) ร่วมด้วย หรือเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงได้ ซึ่งมีโอกาสที่จะมีอาการเป็นลมซ้ำซากได้

โดยภาพรวม ผู้ที่มีอาการเป็นลมทั้งหมด (ทุกกลุ่มวัยและจากทุกสาเหตุ) อาจมีโอกาสเป็นลมซ้ำได้อีกประมาณร้อยละ 30

สาเหตุ

อาการเป็นลมอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลาย ๆ สาเหตุร่วมกัน ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความตึงตัวของหลอดเลือด (vascular tone) หรือปริมาตรเลือด (blood volume) ได้แก่

(1) เป็นลมจากหลอดเลือดและประสาทเวกัส (vasovagal syncope หรือ neurocardiogenic syncope) พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของอาการเป็นลมทั้งหมดและเป็นภาวะที่ไม่รุนแรง ซึ่งมีชื่อเรียกแต่เดิมว่า เป็นลมธรรมดา (common fainting) มักเกิดกับวัยหนุ่มสาว แต่ก็อาจพบได้ในทุกวัย ผู้ป่วยจะเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว มักเกิดอาการเป็นลมขณะอยู่ในท่ายืน มักมีเหตุกระตุ้น เช่น อยู่ในฝูงชนแออัด อากาศร้อนอบอ้าว หรืออยู่กลางแดดที่ร้อนจัด ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อดนอน หลังกินข้าวอิ่ม ลุกจากท่านอนราบขึ้นยืนเร็ว ๆ หรือยืนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ มีความรู้สึกเจ็บปวดรุนแรง มีความรู้สึกตื่นเต้น ตกใจ กลัว หรือเสียใจอย่างกะทันหัน หรือเห็นเลือดแล้วรู้สึกกลัว ถูกเจาะเลือด เป็นต้น เป็นเหตุให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยา ทำให้หัวใจเต้นช้าลง และหลอดเลือดที่เท้า 2 ข้างขยายตัว มีเลือดคั่งอยู่ที่เท้า ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง จึงมีเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดอาการเป็นลมล้มฟุบทันที

(2) เป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง (situational syncope) ชักนำให้เกิดปฏิกิริยาแบบเดียวกับข้อ (1) ทำให้มีอาการเป็นลมทันทีขณะมีกิริยานั้น ๆ ตัวอย่างเช่น

    ขณะไอหรือจามแรง ๆ มักพบในคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
    ขณะกลืนอาหาร มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับคอหอย หรือหลอดอาหาร
    ขณะถ่ายปัสสาวะ หลังจากมีปัสสาวะเต็มกระเพาะ (ปวดถ่ายสุด ๆ) พบบ่อยในผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด
    ขณะถ่ายอุจจาระ ในคนที่ท้องผูก หรือมีการเบ่งแรง ๆ
    ขณะหันคอ โกนหนวดด้วยเครื่องไฟฟ้า หรือใส่เสื้อรัดคอ พบในผู้สูงอายุที่มีความไวของคาโรติดไซนัส (carotid sinus hypersensitivity)

(3) เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน (postural syncope) ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นปกติดีขณะอยู่ในท่านอนราบ แต่เมื่อลุกขึ้นยืนจะมีความดันเลือดลดลง จนเลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด เป็นลมทันที มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ หรือยาขับปัสสาวะ ผู้ที่มีภาวะตกเลือด (เช่น มีเลือดออก ถ่ายอุจจาระดำ ประจำเดือนออกมาก) หรือมีภาวะขาดน้ำ (เช่น ท้องเดิน อาเจียน มีไข้สูง ดื่มน้ำน้อย เหงื่อออกมากเนื่องจากออกกำลังกายหรืออยู่ในที่ ๆ อากาศร้อนอบอ้าว) หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดูเพิ่มเติมใน "ภาวะความดันตกในท่ายืน"

2. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disorders) ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดไม่ได้เต็มที่ เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดอาการเป็นลม เรียกว่า เป็นลมจากโรคหัวใจ (cardiac syncope) อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น

    หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นช้าหรือเร็ว หรือจังหวะไม่สม่ำเสมอ
    โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
    ภาวะหัวใจวาย
    โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy)
    โรคลิ้นหัวใจตีบ (aortic stenosis, mitral stenosis)
    เนื้องอกในหัวใจ (atrial myxoma)
    ภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ (aortic dissection) (ดู "โรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง")
    ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (ดู "ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด") ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเป็นลม

3. กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disorders) เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน หรือแตก (ดู "โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดเลือดชั่วขณะ อัมพาตครึ่งซีก") ทำให้เซลล์สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดอาการเป็นลม เรียกว่า เป็นลมจากโรคสมอง (neurologic syncope) สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ หลอดเลือดแดง vertebrovascular artery ขาดเลือด (vertebrovascular insufficiency) โรคไมเกรนที่มีการตีบของหลอดเลือดแดง basilary artery ชั่วขณะ

4. กลุ่มโรคที่หมดสติชั่วขณะคล้ายอาการเป็นลม มีอาการหมดสติที่ไม่เกี่ยวกับเซลล์สมองขาดเลือดแต่เกี่ยวกับสาเหตุอื่น เช่น

    อาการชัก เช่น โรคลมชัก ขณะชักจะมีอาการหมดสติชั่วขณะ
    ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจมีอาการเป็นลมชั่วขณะ แล้วฟื้นสติได้เอง แต่บางคนก็หมดสติไปเลย มีสาเหตุจากการอดอาหารนาน หรือเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยาเกินขนาด ออกแรงมากเกิน หรือกินอาหารผิดเวลา หรือกินอาหารได้น้อย
    ภาวะซีด หรือโลหิตจางจากสาเหตุต่าง ๆ
    โรคทางจิตประสาท เช่น โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน เป็นต้น อาจมีอาการเป็นลมแน่นิ่งชั่วขณะร่วมด้วย

5. กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ บางรายอาจมีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ซึ่งพบประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลม

อาการ

เป็นลมธรรมดา มักมีอาการเป็นลมขณะอยู่ในท่ายืน คือ อยู่ดี ๆ รู้สึกใจหวิว แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ไหว ทรุดลงนอนกับพื้น ไม่รู้สึกตัวหรือหมดสติอยู่เพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว แล้วก็ฟื้นคืนสติได้เองภายในไม่กี่วินาทีถึง 1 นาทีเป็นส่วนใหญ่ (ส่วนน้อยอาจหมดสตินานเกิน 2 นาที) โดยร่างกายจะกลับเป็นปกติดีในเวลาไม่นาน บางรายอาจรู้สึกสับสน (แต่จะเป็นอยู่นานไม่เกิน 30 วินาที) อาจจำเหตุการณ์ช่วงที่เป็นลมล้มฟุบลงไม่ได้ และหลังจากฟื้นคืนสติ อาจรู้สึกอ่อนเพลียอยู่นานประมาณ 30 นาที

บางคนก่อนจะเป็นลมอาจมีอาการเตือนล่วงหน้า (เช่น ศีรษะเบาหวิว วิงเวียน ตัวโคลงเคลง ตาลาย มองเห็นภาพเป็นจุดสีดำหรือเทา หรือตามัวลง หูอื้อหรือมีเสียงดังในหู คลื่นไส้ เหงื่อออก ใจหวิว ใจสั่น หน้าซีด อ่อนแรง) อยู่นานเป็นวินาทีถึง 2-3 นาที แล้วก็เป็นลมฟุบ หมดสติ

เป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง มีอาการคล้ายกับอาการเป็นลมธรรมดา แต่จะมีสาเหตุกระตุ้นชัดเจน เช่น ไอ ขณะกลืนอาหาร เบ่งถ่าย หันคอ เป็นต้น

เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน มีอาการหน้ามืดเป็นลมทันทีที่ลุกขึ้นยืน ในขณะที่อยู่ในท่านอนราบจะรู้สึกสบายดี อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย อาจมีประวัติเป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือกินยาหรืออมยาใต้ลิ้นก่อนเป็นลม หรือมีภาวะขาดน้ำหรือเลือดออก (เช่น ถ่ายดำ มีประจำเดือนออกมาก)

เป็นลมจากโรคหัวใจ พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ) หรือสูบบุหรี่ ก่อนเป็นลมหมดสติอาจมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หรือหายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย บางรายอาจมีอาการเป็นลมขณะใช้แรง (เช่น ยกของหนัก ทำงานหนัก) หรือขณะออกกำลังกาย และอาจเป็นลมขณะอยู่ในท่านอน ท่านั่ง หรือท่ายืนก็ได้

เป็นลมจากโรคสมอง พบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเรื้อรังหรือสูบบุหรี่ ก่อนเป็นลมหมดสติอาจมีอาการปวดศีรษะ บ้านหมุน เห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้หรือไม่ชัด กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อน

ขณะเป็นลมหมดสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถ ทำงานกับเครื่องจักร หรือว่ายน้ำ เป็นอันตรายได้ หรืออาจล้มฟุบ หรือตกจากที่สูง ได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผล กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่เป็นลมซึ่งพบว่ามีโรคประจำตัวร่วมด้วย (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคสมอง) ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่พบร่วมตามมาได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติโรคการเจ็บป่วย การใช้ยา เหตุการณ์ในช่วงที่เป็นลม (เช่น ก่อนจะเป็นลมกำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน) สาเหตุที่กระตุ้นให้เป็นลม (เช่น อดนอน อดข้าว เห็นเลือด เหนื่อยล้า มีอาการเจ็บปวด มีเรื่องตื่นเต้น ตกใจ กลัว) และการตรวจร่างกายเป็นหลัก อาจมีสิ่งตรวจพบ เช่น

เป็นลมธรรมดาและเป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ขณะเป็นลมอาจตรวจพบอาการหน้าซีด มือเท้าเย็น มีเหงื่อออกเป็นเม็ดทั่วใบหน้าและลำตัว ชีพจรเต้นช้า (ต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที) รูม่านตาขยายเท่ากันทั้ง 2 ข้าง และหดลงทันทีเมื่อถูกแสง

เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน การวัดความดันโลหิตในท่ายืน (หลังยืนขึ้น 2-5 นาที) เทียบกับท่านอน พบว่า ในท่ายืนความดันช่วงบนลดลง > 20 มม.ปรอท หรือความดันช่วงล่างลดลง > 10 มม.ปรอท หรือความดันช่วงบนในท่ายืน < 90 มม.ปรอท

ในรายที่มีปริมาตรเลือดลดลง (เช่น ขาดน้ำ เสียเลือด) ชีพจรในท่ายืนอาจเพิ่ม > 20 ครั้ง/นาที ผู้ป่วยอาจมีภาวะซีด หรือภาวะขาดน้ำ (เช่น ริมฝีปากแห้ง) ร่วมด้วย

เป็นลมจากโรคหัวใจ อาจตรวจพบชีพจรเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ หรือจังหวะไม่สม่ำเสมอ การตรวจฟังหัวใจอาจได้ยินเสียงฟู่ (murmur) บางรายอาจพบภาวะหัวใจวาย

เป็นลมจากโรคสมอง การใช้เครื่องฟังตรวจตรงหลอดเลือดแดงที่คออาจได้ยินเสียงฟู่ (carotid bruit) อาจพบอาการแขนขาอ่อนแรง ความดันโลหิตสูง

ในหญิงตั้งครรภ์ หรือในรายที่สงสัยว่าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือมีอาการเป็นลมซ้ำซาก แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด (ดูภาวะซีด ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด อิเล็กโทรไลต์ในเลือด เป็นต้น) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบตลอดเวลา 24 ชั่วโมง (holter monitor) การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง การถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ในรายที่มีอาการเป็นลมซ้ำซากโดยหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน อาจทำการตรวจที่เรียกว่า "การทดสอบด้วยเตียงที่ปรับเอียง (tilt table test)" โดยทำการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงของชีพจรและความดันโลหิต เมื่อจัดเตียงตรวจให้ผู้ป่วยยืนทำมุมในองศาต่าง ๆ การทดสอบนี้จะช่วยวินิจฉัยอาการเป็นลมจากหลอดเลือดและประสาทเวกัส (vasovagal syncope) รวมทั้งภาวะความดันตกในท่ายืน

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ ดังนี้

1. ถ้าเป็นลมธรรมดา หากผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแล้ว และตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการป้องกันและดูแลเบื้องต้นหากมีอาการกำเริบใหม่

สำหรับผู้ที่เป็นลมบ่อยโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน และมีผลต่อการดำเนินชีวิต หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่งตามความเหมาะสมกับสภาพของผู้ป่วย อาทิ ยากลุ่ม mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone), ยาหดหลอดเลือด (vasoconstrictor) เช่น ไมโดดรีน (midodrine), ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors เช่น ฟลูออกซีทิน หรือเซอร์ทราลีน (sertraline)

หากรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดใส่ตัวคุมจังหวะหัวใจ (pacemaker)

2. ถ้าเป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ก็จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือควบคุมอากัปกิริยาที่เป็นสาเหตุ เช่น การไอ การเบ่งถ่าย เป็นต้น ถ้าเกิดจากความไวของคาโรติดไซนัสก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อหรือเน็กไทรัดคอ ใช้มีดโกนไฟฟ้าแทนมีดโกนธรรมดา

3. ถ้าเป็นลมจากความดันตกในท่ายืน ก็แก้ไขตามสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำหรือเสียเลือด ก็ให้น้ำเกลือหรือให้เลือด หากเกิดจากยาก็ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม เป็นต้น

แนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นช้า ๆ จากท่านอนเป็นท่านั่ง แล้วจากท่านั่งจึงค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน การขยับขาก่อนลุกขึ้นก็อาจทำให้เกิดอาการน้อยลง (เนื่องเพราะสามารถเพิ่มปริมาตรเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้) นอกจากนี้ การนอนศีรษะสูงหรือใช้ถุงรัดน่อง (compression stocking) ก็อาจมีส่วนช่วยลดอาการได้

ในรายที่มีอาการบ่อย ๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยา เช่น ยากลุ่ม mineralocorticoid-ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone), ไมโดดรีน (midodrine) (ดูเพิ่มเติมใน "ภาวะความดันตกในท่ายืน")

4. ถ้าเป็นลมจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อพิจารณาให้ยารักษาหรือผ่าตัดแก้ไข

สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้าหรือเร็วผิดปกติ แพทย์อาจผ่าตัดใส่อุปกรณ์คุมจังหวะหัวใจ ได้แก่ pacemaker สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, implantable cardioverter-defibrillator สำหรับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นเร็ว

ผู้ป่วยที่เป็นลมจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นอาจมีโอกาสตายหรือพิการได้

5. ถ้าเป็นลมจากโรคทางจิตประสาท (เช่น โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน เป็นต้น) หรือสาเหตุอื่น (เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะซีด โรคลมชัก ไมเกรน เป็นต้น) ก็จะให้การรักษาโรคหรือภาวะผิดปกติที่พบ


การดูแลตนเอง

หากพบผู้ป่วยมีอาการเป็นลม ควรทำการปฐมพยาบาล

ผู้ป่วยแม้ว่าจะฟื้นสติได้เอง และมีความรู้สึกตัวเป็นปกติดีแล้ว ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ทุกราย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ) หรือกินยารักษาโรคอยู่ประจำ สงสัยมีภาวะผิดปกติของร่างกาย ผู้ที่เคยเป็นลมมาก่อนหรือรู้สึกคล้ายจะเป็นลมอีก หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย (เช่น ชัก เห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรง เจ็บแน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย ชีพจรเต้นช้าหรือเร็วกว่าปกติ หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ซีด ถ่ายอุจจาระดำ มีเลือดออก ปวดศีรษะมาก ปวดท้องมาก อาเจียน ท้องเดิน เป็นต้น) ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

ควรดูแลรักษาและปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการเป็นลมใหม่ หรือมีอาการผิดปกติ (เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เจ็บแน่นหน้าอก แขนขาชาหรืออ่อนแรง กลืนลำบาก พูดไม่ขัด เดินเซ เป็นต้น) หรือมีอาการที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ)


การปฐมพยาบาลคนเป็นลม

เมื่อพบผู้ป่วยเป็นลม ควรให้การปฐมพยาบาล ดังนี้

1. ขั้นตอนแรกสุดคือ รีบจับผู้ป่วยนอนหงาย ศีรษะต่ำ (ไม่ต้องหนุนหมอน) เท้ายกสูง เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น และหันศีรษะไปด้านข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ

2. ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด รวมทั้งสิ่งรัดคอ (เช่น เน็กไท ผ้าพันคอ กระดุมคอ) ให้หลวม

3. ห้ามคนมุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

4. ถ้าตัวเย็นหรืออากาศเย็น ห่มผ้าให้อบอุ่น

5. ขณะที่ยังไม่ฟื้น ห้ามให้น้ำหรืออาหารทางปาก

6. เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัว อย่าให้ลุกขึ้นทันที อาจทำให้เป็นลมอีกได้ ควรให้นอนพักต่ออีก 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ และตรวจดูว่าร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือไม่

7. เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติแล้ว และเริ่มกลืนได้ อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ (ถ้ารู้สึกกระหาย) หรือให้ดื่มน้ำหวาน (ถ้ารู้สึกหิว)

8. แม้ว่าผู้ป่วยจะฟื้นดีแล้ว ก็ควรส่งไปพบแพทย์หรือโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ

9. ถ้าผู้ป่วยหมดสตินานเกิน 2-3 นาที ควรให้การปฐมพยาบาลแบบอาการหมดสติ หรือขณะที่หมดสติ ถ้าพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจให้ทำการกู้ชีวิต (CPR) ด้วยการกดหน้าอก (ปั๊มหัวใจ) แล้วนำส่งโรงพยาบาลทันที

การป้องกัน

1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัดและการสูบบุหรี่ หาทางผ่อนคลายความเครียด และออกกำลังกายเป็นประจำ

2. บริโภคอาหารสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักตัว และมีสุขนิสัยในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคต่าง ๆ

3. เมื่อมีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น) ควรดูแลรักษาอย่างจริงจัง

4. ผู้ที่เคยเป็นลมธรรมดา ควรปฏิบัติตัวดังนี้

    หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น เช่น การอยู่ในฝูงชนแออัด อากาศร้อน การออกกลางแดด การอดนอน การอดข้าว การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลุกจากท่านอนราบขึ้นยืนเร็ว ๆ (ควรลุกขึ้นอย่างช้า ๆ) การยืนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ (ถ้าจำเป็นต้องยืนเป็นเวลานาน ควรขยับเดินเคลื่อนไหวไปมาบ่อย ๆ) เป็นต้น
    หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด ตื่นเต้น ตกใจ กลัว เช่น ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องน่ากลัว หรือน่าตื่นเต้น การเห็นเลือด
    เมื่อมีอาการไม่สบาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเดิน อาเจียน ควรรีบดูแลรักษาตัวเองให้ถูกต้อง (เช่น กินยาบรรเทาอาการ ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ป้องกันภาวะขาดน้ำ) หรือไปพบแพทย์โดยเร็ว
    เมื่อมีอาการเตือน (เช่น ศีรษะเบาหวิว วิงเวียน ตัวโคลงเคลง คลื่นไส้ หน้าซีด) ให้รีบนอนลงและยกเท้าสูงกว่าระดับหัวใจประมาณ 30 ซม. หรือนั่งบนเก้าอี้แล้วก้มศีรษะลงซุกอยู่ระหว่างหัวเข่า 2 ข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลมหมดสติ

5. ถ้าเคยเป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ให้หลีกเลี่ยงหรือควบคุมอากัปกิริยาที่เป็นสาเหตุ เช่น การไอ การเบ่งถ่าย เป็นต้น ถ้าเกิดจากความไวของคาโรติดไซนัส ก็ให้หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อหรือเน็กไทรัดคอ ใช้มีดโกนไฟฟ้าแทนมีดโกนธรรมดา

ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมส่วนใหญ่มักไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง และไม่มีอันตรายแต่อย่างใด ส่วนน้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำ (เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน) อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้

มีรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์หากมีอาการเป็นลมบ่อย หรือมีอาการเป็นลมในระยะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตรแล้ว อาจพบว่าเป็นโรคหัวใจในภายหลังได้ และอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกพิการแต่กำเนิดได้

ดังนั้น ถ้าพบอาการเป็นลมในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว หรือหญิงตั้งครรภ์ แม้ว่าอาการเป็นลมจะหายดีแล้ว ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมอย่างถี่ถ้วน และติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง

2. ผู้ป่วยที่เป็นลมส่วนใหญ่จะไม่มีอาการชักเกร็งของแขนขาร่วมด้วย ส่วนน้อยอาจพบว่ามีอาการชักคล้ายโรคลมชัก ต่างกันที่ผู้ป่วยเป็นลมจะมีอาการชักตามหลังหมดสติ และชักเพียงช่วงสั้น ๆ (ส่วนใหญ่ไม่เกิน 15 วินาที) ในขณะที่ผู้ป่วยลมชักจะมีอาการชักพร้อม ๆ กับหมดสติ และมักจะชักนานเกิน 1 นาที อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มักจะยากที่จะวินิจฉัยแยกโรค 2 ชนิดนี้ได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นลมและมีอาการชักร่วมด้วย อาจพบว่ามีภาวะผิดปกติของหัวใจ (เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ) ร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในผู้ใหญ่

ดังนั้น เมื่อพบผู้ที่เป็นลมและมีอาการชัก เมื่ออาการทุเลาแล้วควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น

3. ผู้ที่เป็นลมที่ไม่มีสาเหตุจากโรคหัวใจและโรคสมอง มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (ยกเว้นการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ) ควรป้องกันไม่ให้เป็นลมซ้ำ โดยการหลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น และรู้จักปฏิบัติตัวต่าง ๆ (ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ "การป้องกัน" ด้านบน)

แต่ถ้ามีอาการเป็นลมบ่อย ควรหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ เช่น การขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร การว่ายน้ำตามลำพัง การอยู่ในที่สูง เป็นต้น และควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยสาเหตุให้แน่ชัด

4. ในการปฐมพยาบาล ขั้นตอนสำคัญที่สุดและควรรีบทำเป็นอันดับแรก ก็คือ การจับผู้ป่วยนอนหงาย ศีรษะต่ำ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองให้เพียงพอ ซึ่งมักจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นได้ภายในเวลาสั้น ๆ ส่วนวิธีช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น การให้ดมแอมโมเนีย การเรียกดัง ๆ การบีบนวด การใช้ผ้าเย็นเช็ดตามหน้าและคอ การพัดลม อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นผู้ป่วย แต่ไม่ใช่วิธีการที่สำคัญในการช่วยให้ฟื้นสติ